ไอทีในชีวิตประจำวัน #436 สารสนเทศสาธารณภัย ()
ประเทศไทยประสบสาธารณภัยหลายแบบทุกปี โดยภาครัฐมีหน่วยงานที่ดูแลปัญหาอยู่หลายหน่วยงานตามลักษณะปัญหา ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นในภาคเหนือบ่อยครั้ง คือ ภัยแล้ง ภัยหนาว อุทกภัย ไฟป่า วาตภัย เมื่อค้นข้อมูลจากสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยที่มีในจังหวัดพบว่าประเภทของภัยมีอีกหลายรูปแบบ ได้แก่ ภัยทางท้องถนน อัคคีภัย แผ่นดินไหว อาคารทรุด/อาคารถล่ม คลื่นสึนามิ การก่อวินาศกรรม การคมนาคม สารเคมี/วัตถุอัตราย ดินถล่ม โรคระบาด ศัตรูพืชระบาด อุบัติเหตุจากโรงงาน สึนามิ ภัยจากเทคโนโลยีสารสนเทศ และภัยอื่น
การประเมินว่าพื้นที่ใดจะเข้าเงื่อนไขเป็นพื้นที่ประสบภัยจะมีเกณฑ์ให้พิจารณา เมื่อถูกประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยก็จะได้รับการดูแลจากภาครัฐเป็นพิเศษตามสภาพปัญหา ถ้ามีอากาศหนาวจัดที่อุณหภูมิต่ำกว่า 15 องศาเซลเซียสติดต่อกันเกิน 3 วัน ในจังหวัดนั้นก็จะพิจารณาประกาศเป็นภัยพิบัติฉุกเฉิน (ภัยหนาว) ส่วนภัยหมอกควัน คือ พื้นที่ที่มีค่าฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน (PM10) เกิน 120 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ส่วนอุทกภัยมักมีพื้นที่ประสบภัยซ้ำซากอยู่ทุกปี หรือเกิดครั้งแรกที่มาจากฝนตกหนักมีน้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมฉับพลัน และน้ำล้นตลิ่ง
การคมนาคมถือเป็นภัยหนึ่งที่มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมากทุกปี ใน 7 วันอันตรายช่วงเทศกาลปีใหม่ 2557 นางธวัลรัตน์ ไชยอินปัน หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดลำปาง เปิดเผยว่ามีอุบัติเหตุรวม 66 ครั้ง และมีผู้เสียชีวิต 9 ราย มีสาเหตุหลักจากเมาสุรา 41 ครั้งคิดเป็นร้อยละ 62.12 ส่วนภัยจากเทคโนโลยีสารสนเทศ หมายถึง ภัยที่เกิดขึ้นกับระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยอาจเกิดความเสียหายขึ้นกับระบบ Hardware, Software, Network, Peopleware แฟ้มข้อมูล และอุปกรณ์อื่น ๆ ที่ถูกทำลาย ทำให้เกิดความเสียหาย และเป็นสาธารณภัยที่เกิดจากการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศที่ทำให้เกิดผลกระทบและความเดือดร้อนต่อการดำรงชีวิตของประชาชน ซึ่งเทียบเคียงคล้ายกับที่ กสท. บางรัก ไฟดับ ทำให้เครือข่ายล้มไปทั้งระบบเป็นเวลาประมาณ 3 ชั่วโมง เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2556 คาดว่าเกิดความเสียหายประมาณ 300 ล้านบาท จากเหตุชุมนุมทางการเมืองที่นั่น
|